วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ

ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ
การเรียนรู้ในห้องเรียนเรื่องภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ โดยอ้างอิงเนื้อหาจากอาจารย์ สิทธา พินิจภูวดล ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวได้ถ่ายทอดเรื่องการเขียนบทแปลที่ดี การใช้ภาษาเขียน ภาษาพูดที่คนทั่วไปใช้กันจริง  และต้องเขียนด้วยภาษาที่เป็นธรรมชาติ เพื่อให้ผู้อ่าน และผู้ใช้งานสามารถเข้าใจได้ทันทีไม่มีอุปสรรคในการรับสารที่สื่อจากบทแปล ซึ่งจะมีองค์ประกอบย่อยของการแปลคือ คำความหมาย การสร้างคำ และสำนวนโวหาร
องค์ประกอบแรกคือคำและความหมาย ซึ่งคำบางคำมีความหมายแตกต่างกันหลายอย่าง มีทั้งความหมายตรงและความหมายแฝง หรือความหมายเชิงเปรียบเทียบ คำบางคำมีความหมายต่างกันไปตามยุคสมัย เช่นในสมัยก่อนๆมีความหมายอย่างหนึ่งในปัจจุบันแตกต่างไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง บางครั้งก็ตรงกันข้ามกัน บางครั้งก็มีความหมายไปในทางที่ดี บางครั้งก็มีความหมายในทางลบไปอีก เช่น กู ไพร่ ในการพูดหรือการเขียนที่ต้องการแสดงอารมณ์ อาจจะนำคำที่มีความหมายไม่ดีมาใช้ให้เกิดความหมายที่ดีขึ้นได้
การสร้างคำกริยา เป็นการเสริมท้ายคำกริยา ด้วยคำกริยาซึ่งบางคนอาจจะเห็นว่าทำให้ภาษายุ่งยากมาก อย่างไรก็ตามบางครั้งก็ชัดเจนขึ้น ถ้าเราเข้าใจความหมายที่แท้จริงดั้งเดิม คำกริยาที่นำมาเสริมท้ายโดยไม่มีความหมายเดิมเหลืออยู่ในประโยค แต่จะกลายเป็นคำที่บอกปริมาณ และทิศทาง เช่นคำว่า ทำขึ้น บ่งบอกว่ามาก ชัดเจน เช่นเดียวกับหัวเราะขึ้น เกิดขึ้น ปรากฏขึ้น และคำว่าช้าลง ซึ่งบอกปริมาณว่ามีเพียงเล็กน้อย โดยมีความหมายเปรียบเทียบเช่นเดียวกันกับ ช้าลง เสื่อมลง อย่างไรก็ตามในการใช้คำบางคำ อาจทำให้ความหมายถึงการทำซ้ำๆบ่อยๆ
การเข้าคู่คำ คือการนำคำหลายคำมาเข้าคู่กันเพื่อให้ได้คำใหม่โดยมีความหมายใหม่หรือมีความหมายเดิม ซึ่งจะเป็นคู่คำที่พ้องความหมาย จะเป็นคำภาษาเดียวกันหรือคำต่างประเทศ หรืออาจจะเป็นการใช้ภาษาถิ่น ส่วนใหญ่คำเหล่านี้จะมีความหมายคงเดิม อาทิ ทรัพย์สิน หมายความว่า ร่ำรวย และคู่คำที่มีความหมายตรงข้าม ส่วนใหญ่จะได้ความหมายใหม่ เช่น คนมีคนจน มีตรงข้ามกับจน หมายถึงทุกคน และคู่คำที่มีความหมายต่างกัน มักจะได้คำใหม่ที่มีเค้าความหมายเดิมเหลืออยู่ อาทิ ข้าวปลา หมายถึงอาหาร
สำนวนโวหาร ในการแปลนั้น ผู้แปลต้องรู้จักและเข้าใจสำนวนการเขียนก่อน มิฉะนั้นจะทำให้เข้าใจความหมายไม่ชัดเจน ทำให้งานแปลออกมาผิดเพี้ยนไปและไม่น่าอ่าน ไม่เกิดความบันเทิงตามจุดประสงค์ อันได้แก่โวหารภาพพจน์ จะประกอบไปด้วย สิ่งแรกคือโวหารอุปมา เป็นการสร้างภาพพจน์ด้วยการเปรียบเทียบ โดยมีจุดมุ่งหมายจะชี้แจงอธิบาย พูดพาดพิง หรือเสริมให้งดงามขึ้น ส่วนโวหารอุปลักษณ์ คือการเปรียบเทียบความหมายโดยนำความเหมือนหรือความต่างของสิ่งที่เปรียบเทียบมากล่าว สำหรับโวหารเย้ยหยัน เป็นการใช้คำด้วยอารมณ์ขัน เพื่อยั่วล้อ เย้ยหยัน เหน็บแนมหรือการใช้ให้เห็นความบกพร่องและความไม่ฉลาดของสิ่งที่ต้องการกล่าวถึง
และโวหารขั้นแย้ง เป็นการใช้คำที่มีความหมายตรงข้ามกันมาเรียงต่อกันโดยรักษาสมดุลไว้ เช่นการรักษาจำนวนคำเท่ากันทั้งสองฝ่าย รวมทั้งโวหารขัดแย้งอีกอยางหนึ่ง ซึ่งเป็นการกล่าวโดยขัดแย้งกับความจริงหรือความเชื่อและความคิดเห็นของบุคคลทั่วไป เป็นคำกล่าวที่ดูเหมือนจะขัดกันเองแต่ถ้าพิจารณาดูจะเห็นความเป็นจริง ต่อไปคือโวหารที่ใช้ส่วนหนึ่งแทนทั้งหมด ได้แก่การนำคุณสมบัติเด่นๆมาใช้แทนที่จะเอ่ยตรงๆ
โวหารบุคลาธิษฐาน คือการนำสิ่งต่างๆที่ไม่มีชีวิต รวมทั้งความคิด การกระทำมากล่าวเหมือนเป็นมนุษย์ เป็นการใช้มากที่สุดในการเขียนบทร้อยกรองและเช่นเดียวกับโวหารที่กล่าวเกินจริง เพราะโวหารเช่นนี้จะมุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญ ชี้ให้เด่นชัดเพื่อแสดงอารมณ์ที่รุนแรงไม่ใช่อธิบายข้อเท็จจริง อย่างไรก็ดี ในการแปลสำนวนโวหารให้ดูดี มีอัธรส เพื่อให้คงรสชาติความไพเราะ สละสลวย ดังนั้นเราจึงต้องมีการศึกษาและคำนึงถึงลักษณะที่ดีของสำนวนโวหาร
สำนวนโวหารที่ดีนั้นจะต้องถูกหลักภาษา คือไม่ขัดกับหลักไวยากรณ์และไม่ทำให้บทดังกล่าวเปลี่ยนไปจากเดิม มีการเล่นคำแต่ไม่กำกวม สำนวนที่ดีจะต้องชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำ และมีชีวิตชีวาคือไม่เฉื่อยชา ยืดยาด มีความเร้าใจ ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกกระตือรือร้น อยากอ่านต่อจนจบ รวมทั้งต้องมีความสมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ มีเหตุผลรอบคอบ ไม่สร้างความหลงผิดแก่ผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ และสุดท้ายต้องคมคายเฉียบแหลม เป็นการใช้คำพูดที่เข้มข้น หนักแน่น และแฝงข้อคิดไว้
ดังนั้นในการค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับสำนวนไทย หรือแม้แต่การใช้รูปประโยคต่าง การสร้างคำนี้ เราสามารถอ่านเพิ่มเติมจากหนังสืออื่นๆได้ และสามารถนำความรู้ที่ศึกษามาข้างต้นไปประยุกต์ใช้ในการฝึกงานแปลประเภทต่างๆเพื่อให้งานแปลนั้นมีความเป็นธรรมชาติ สามารถใช้ภาษาที่ไม่ขัดเกร็งจนเกินไป เกิดความชัดเจน กระชับ กะทัดรัด และสมบูรณ์ที่สุด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โครงงานน้ำยาล้างมือ Hand Soap 4S BY ป.4

         น้ำยาล้างมือ Hand Soap 4S สูตรว่านหางจระเข้