วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Learning log 13 นอกห้องเรียน

Learning log 13

นอกห้องเรียน

การศึกษานอกห้องเรียนครั้งนี้  ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะในวันที่ 29-30 ตุลาคม พ.ศ. 2558  โดยมีจุดประสงค์หลักของโครงการนี้คือ การใช้ทักษะการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียนมาบูรณาการด้วยกันเพื่อใช้เป็นเทคนิคการสอนต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสอนได้จริง เพราะปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่ใช้สำหรับสื่อสารในยุคประชาคมอาเซียน และภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่เหมาะสมอย่างมากในการเรียน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางธุรกิจ การท่องเที่ยว หรือเหตุผลส่วนตัว  แต่การเรียนภาษานั้น ไม่ว่าจะภาษาใดก็ตาม ก็ต้องใช้ความขยัน ความตั้งใจและไม่อายที่จะพูดหรือเขียนแม้ว่าอาจจะผิด ซึ่งการอบรมครั้งนี้ก็ได้กล่าวถึงเทคนิคในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมากมายหลายมุมมอง
ในการอบรมครั้งนี้มีการกล่าวถึงสภาพการศึกษาทางด้านภาษาอังกฤษในยุคปัจจุบันโดยจะต้องมีการบูรณาการทักษะทุกๆทักษะเข้าด้วยกัน ซึ่งเราไม่สามารถที่จะเรียนรู้ ทักษะใดเพียงทักษะหนึ่งเพราะทุกๆทักษะย่อมฝึกให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร และสามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์และสร้างสรรค์ ศาสตร์ทางภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง การสื่อสารในสถานะการณ์ต่างๆ จะสื่อสารกันได้อย่างน้อยที่สุดก็ต้องฟังรู้เรื่องก่อนแล้วจึงจะทำให้สามารถพูดโต้ตอบได้ หรือพูดได้ พูดเป็น หรือใช้เป็น และเป็นประโยชน์  นอกจากการโต้ตอบแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศกันก็คงรวมไปถึงการเล่าเรื่อง บรรยาย แสดงความคิด ความเห็น ความรู้สึก วิพากษ์วิจารณ์ ซึงก็ต้องมีการประเมินสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา จากการวิเคราะห์สังเคราะห์อีกทีหนึ่ง จึงนับว่าสุดยอดในการเรียนรู้ทางภาษา

ต่อมาเป็นการเสวนาวิชาการงานวิจัย หัวข้อ Beyond Language Learning โดย ผศ.ดร.ประกาศิต  สิทธิ์ธิติกุล ดร.สุจินต์ หนูแก้ว และอาจารย์สุนทร บุญแก้ว ซึ่งกล่าวถึงการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งให้เห็นว่าผู้เรียนส่วนใหญ่ขาดการวิเคราะห์ การมีวิจารณญาณในการอ่าน อาทิ เช่นที่พบบ่อยคือ การรับชมโฆษณา
และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก ดร.สุจินต์  หนูแก้ว ในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับการให้นักศึกษาได้ฝึกคิดวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง ในปีที่ผ่านมา ดร.สุจินต์  หนูแก้วร่วมกับ ผศ.ดร. อภิณภรณ์  สถิตภาคีกุล ได้ทำงานวิจัยร่วมกันในหัวข้อดังกล่าว โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ นักศึกษา ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช พบว่านักศึกษากลุ่มดังกล่าวมีพื้นฐานในการคิดวิเคราะห์ในระดับอ่อน จึงเล็งเห็นความสำคัญจึงจัดการเรียนรู้และการทดสอบดังกล่าว โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เป็นกลุ่ม เพราะการเรียนรู้เป็นกลุ่มนั้น เราสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสามัคคี และกล้าที่จะแสดงออก แสดงศักยภาพได้ดีกว่าการเรียนรู้กับผู้สอนโดยตรง อันเนื่องมาจากการที่ผู้เรียนได้รับการไว้วางใจจากเพื่อนร่วมกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่นักศึกษาจะสับสนในหัวข้อระหว่าง การจัดหมวดหมู่และการจัดกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีการพยากรณ์ การเปรียบเทียบโดยใช้รูปภาพ และการเขียนผังกราฟิกในการสรุปองค์ความรู้ในเนื้อหาเรื่องต่างๆ
ในช่วงเวลา 10.30-12.00 น. เป็นการให้ความรู้เชิงบูรณาการของครูสอนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21กับการเป็นสมาชิกอาเซียนและการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 และกลวิธีการเรียนการสอนภาษาในปัจจุบัน โดย ผศ.ดร. ศิตา   เยี่ยมขันติถาวร ได้เรียนรู้ว่าความท้าทายด้านการศึกษาในศตวรรษที่ 21  ในการเตรียมนักเรียนให้พร้อมกับชีวิตในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องสำคัญของกระแสการปรับเปลี่ยนทางสังคมที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ส่งผลต่อวิถีการดำรงชีพของสังคมอย่างทั่วถึง ครูจึงต้องมีความตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการจัดการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตในโลกในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 20 และ 19 โดยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญที่สุด คือ ทักษะการเรียนรู้ (Learning Skill) ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กในศตวรรษที่ 21 นี้ มีความรู้ ความสามารถ และทักษะจำเป็น ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ
ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การเรียนรู้ 3R x 7C 3R คือ Reading (อ่านออก), Writing (เขียนได้), และ Arithemetics (คิดเลขเป็น)  7C ได้แก่ 1.Critical Thinking and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา) 2.Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม) 3.Cross-cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)  4.Collaboration, Teamwork and Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ  5.Communications, Information, and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ) 6.Computing and ICT Literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) 7.Career and Learning Skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้) ซึ่งครูจะเป็นผู้สอนไม่ได้ แต่ต้องให้นักเรียนเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูจะออกแบบการเรียนรู้ ฝึกฝนให้ตนเองเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แบบ PBL (Problem-Based Learning) ของนักเรียน ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวช่วยของครูในการจัดการเรียนรู้คือ ชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (Professional Learning Communities : PLC) เกิดจากการรวมตัวกันของครูเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำหน้าที่ของครูแต่ละคน
การอบรมในช่วงเช้า วันพฤหัสบดี ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2558 ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ถึงแนวทางในการเรียนรู้และเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบการนำทักษะต่างๆมาบูรณาการเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านการสื่อสาร การคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ รวมถึงการมีวิจารณญาณในการอ่านภาษาอังกฤษ ซึ่งทักษะทั้ง 4 ด้าน นั้นล้วนเป็นสิ่งสำคัญ และยิ่งไปกว่านั้นคือการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งดิฉันคิดว่าความรู้ที่ได้รับในวันนี้จะเป็นประโยชน์ในการประกอบวิชาชีพได้จริงอย่างแน่นอน และการเรียนรู้เกี่ยวกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะมีผลต่อตัวนักศึกษาโดยตรง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โครงงานน้ำยาล้างมือ Hand Soap 4S BY ป.4

         น้ำยาล้างมือ Hand Soap 4S สูตรว่านหางจระเข้