วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Learning log 10 นอกห้องเรียน

Learning log 10

นอกห้องเรียน

เมื่อแรกเกิดทุกคนยังไม่มีความสามารถในการที่จะสื่อสาร หรือเข้าใจในทุกสิ่งที่คนอื่นๆ เขาพูดกันได้ กว่าจะฟังทุกอย่างรู้เรื่องและเข้าใจว่าเขาพูดถึงอะไร หรืออันนี้หมายความว่าอะไร ก็ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ  ดังนั้นทักษะแรก ทางภาษาที่ได้ก็คือ ทักษะการฟัง เมื่อได้ทักษะการฟังแล้ว ก็จะพยายามที่จะพูด โดยการเลียนเสียงที่ได้ยิน และเริ่มหัดพูดตาม ในช่วงแรกๆ ก็ยังพูดไม่ได้เป็นประโยค พูดถูกบ้าง ผิดบ้าง  แต่จะเริ่มพูดจากคำสั้นๆ ก่อน และก็ค่อยผสมคำไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง สามารถพูดได้เป็นประโยค จากนั้น เรามาเรียนหลักการใช้ภาษาอย่างถูกต้อง เมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน ซึ่งช่วยให้อ่านหนังสือออก และเขียนหนังสือได้ตามลำดับ  สำหรับบางคนเรียนภาษาที่สองมาเป็นระยะ เวลาหนึ่ง และประสบปัญหาว่า เรียนมาหลายปีแล้วยังใช้ภาษาได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือพูดไม่ได้ ดิฉันจึงลองนำวิธีนี้ไปปรับใช้ในการเรียนภาษาอังกฤษ
ขั้นแรก เริ่มจากการฟัง  ให้ฝึกฟังทุกวันอย่างน้อยที่สุด วันละ 13 ชั่วโมง เพื่อให้เราเคยชินกับสำเนียงของภาษา ในตอนแรกไม่ต้องกังวลอะไร  ว่าเราฟังไม่ออก เราอาจจะฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะลักษณะในการเรียนภาษานั้น เด็กจะไม่ใช้ความคิดหาเหตุผล เด็กจะใช้วิธีเลียนแบบอย่างเดียว ลอง เปิดวิทยุหรือโทรทัศน์ให้เสียงดังพอ เพื่อที่เราจะได้ยินวิธีการพูดของเขาอย่างชัดเจน หรือจะใส่หูฟังก็ได้ ยิ่งดี  เพราะจะทำให้เราได้ยินการออกเสียงของเขาในแต่ละคำได้ชัดเจนดี ขณะที่ฟังไปนั้น อย่าฟังจนเพลิน ให้สังเกตวิธีการพูดของเขาด้วย ว่าเขาออกเสียงอย่างไร ถ้าดูหนัง ก็ให้สังเกตุวิธีการขยับปากไปด้วย ว่าเขาขยับปากอย่างไร แล้วฝึกขยับปากตาม พึมพำตามไปก่อนก็ได้ ถ้ายังพูดตามไม่ทัน เพราะแต่ละภาษามีทำนองภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกัน  การที่เราพึมพัมตามเขาไป จะทำให้เรารู้จังหวะการพูดของเขาได้  การขยับปากตามเป็นการฝึกกล้ามเนื้อที่ริมฝีปากด้วย (เป็นการเตรียมพร้อมสู่ทักษะการพูดในขั้นต่อไป)
เนื่องจากภาษาแต่ละภาษามีวิธีการออกเสียง และการใช้ตัวอักษรที่แตกต่างกัน ถ้าเราไม่ฝึกจะทำให้เราพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงไทย เพราะภาษาอังกฤษมีการใช้กล้ามเนื้อริมฝีปากมากกว่าภาษาไทย (สังเกตุว่าในการพูดภาษาไทย ปากของเราจะขยับน้อยกว่าในการออกเสียงคำแต่ละคำในภาษาอังกฤษ) ในภาษาอังกฤษเขาจะมี voice กับ voiceless อย่างเช่น ตัว V (voice) การที่เราจะออกเสียงได้ถูกต้องนั้น เราต้องสังเกตวิธีการวางตำแหน่งปากและฟันก่อนออกเสียงด้วยนะคะ เพราะในภาษาไทยจะไม่มีการออกเสียงแบบนี้ ถ้าเราวางตำแหน่งผิด เราก็จะออกเสียงได้ไม่เหมือนเขา และนั่นก็คือสาเหตุว่า ทำไมพูดไป แล้วเขาไม่เข้าใจเรานั่นเอง จุดเล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการฝึกภาษาอังกฤษ

ในขณะที่ฟังให้สังเกตจังหวะใน การพูด (rhythm), การขึ้นเสียงสูง เสียงต่ำ (intonation), การเน้นคำ (stress) ว่าเขาเน้นในพยางค์ไหน และพยางค์ไหนในคำนั้นที่แทบจะไม่ได้ยินว่าเขาออกเสียง (weak form) หรือถ้าเป็นประโยคยาวๆ ให้สังเกตว่าคำไหนบ้างในประโยคที่ออกเสียงเน้น, การลากเสียงของคำแต่ละคำที่อยู่ใกล้กัน (connected speech), สังเกตการออกเสียง s, ed, t , z ที่ท้ายคำว่าเขาออกเสียงอย่างไร เป็นต้น พูดง่ายๆ ก็คือ เลียนแบบทุกอย่างที่ได้ยินมา ถ้าใครมี dictionary แบบอังกฤษ อังกฤษ ก็ยิ่งดี ถ้าไม่แน่ใจว่าคำไหนออกเสียงอย่างไร ให้เปิดเช็ควิธีการออกเสียงได้จาก dictionary ประกอบ เพราะเขาจะบอกวิธีการออกเสียงและพยางค์ไหนที่ต้องเน้นเสียงหนัก
ขั้นที่สอง เมื่อฝึกฟังไปได้สักระยะแล้ว ขั้นต่อไปให้ฝึกทักษะการพูดจากบทสนทนา,ข่าว, เพลง หรือหนัง ที่มี script เขียนประกอบเอาไว้ ครั้งแรกในขณะที่ฟังให้อ่าน script ในใจไปพร้อมๆกับบทหนังนั้นๆ ครั้งที่สองขณะอ่าน script ให้ขยับปากตาม ครั้งที่สามให้พูดออกเสียงตาม script ไปพร้อมๆ กับหนัง พยายามพูดเลียนเสียงให้เหมือนที่สุด ทั้งจังหวะการพูด การขึ้นเสียงสูงเสียงต่ำ การฝึกพูดกับ script นั้น ไม่จำเป็นจะต้องฝึกจากหนังทั้งเรื่อง เลือกเอามาแค่ตอนที่เราชอบสัก 1 ตอน ฝึกวันละ 1 ตอน ทำอย่างนี้ซ้ำๆ จนกว่าเราจะเข้าใจวิธีการพูด และการออกเสียง วิธีนี้ถ้าฝึกไปเรื่อยๆอย่างถูกวิธี จะช่วยในการเปลี่ยนสำเนียงภาษาได้ การอ่านออกเสียงนั้นควรจะฝึกอ่านออกเสียงดังๆ ฝึกทุกวัน อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที การอ่านออกเสียงดัง นอกจากเป็นการฝึกกล้ามเนื้อปากแล้ว ทำให้เราได้ยินเสียงของตัวเอง และเปรียบเทียบกับเสียงของเจ้าของภาษาที่เราได้ยินมา ว่าเราออกเสียงเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างกันอย่างไรกับต้นแบบ วิธีนี้จะช่วยให้เราเคยชินกับการพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น และออกเสียงได้ดีขึ้นด้วย
การเรียนด้วยวิธีนี้จะทำให้สมองของเราเกิดการซึมซับเข้าไปโดยอัตโนมัติ เมื่อเราฝึกฟัง และฝึกพูดตามมาได้ระยะหนึ่ง เราจะสังเกตเห็นว่าจะมีพัฒนาด้านการเขียนและการอ่านยิ่งขึ้น เราจะซึมซับหลักการใช้ไวยากรณ์ เราจะรู้วิธีการใช้ภาษา การใช้ tenses ด้วยวิธีธรรมชาติ เหมือนกับที่บางคนพูดว่า รู้ว่าตรงนี้ต้องใช้คำนี้ ตรงนี้ใช้อย่างนี้ผิด แต่อธิบายไม่ได้ว่าเพราะอะไร) สำหรับสื่อที่แนะนำใช้ในการฝึก รายการ sitcom ซึ่งน่าจะเห็นผลได้ชัดเจน เพราะสนุกด้วย ก็จะดูเพลินเลยทีเดียว พอดูไปเกือบจบ หนึ่งซีซั่น จะรู้สึกได้เลยว่า จะคิดเป็นภาษาอังกฤษ และพูดกับตัวเอง หรือบ่นออกมาเป็นภาษาอังกฤษ มีข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราชอบสไตล์การพูดของใครเป็นพิเศษ ก็ให้เลียนแบบโดยเน้นไปที่คนๆ นั้นเลย
ขั้นที่สาม เมื่อเราฝึกทักษะการพูดและการฟังมาได้ถึงขั้นนี้แล้ว ก็จะนำไปทักษะในการฝึกทักษะการเขียน เราสามารถศึกษาหลักไวยากรณ์เพิ่มเติมจากหนังสือ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจหลักไวยากรณ์มากขึ้นและใช้ได้ถูกต้อง วิธีนี้จะทำให้เราไม่ต้องปวดหัวกับการจำไวยากรณ์อีกต่อไป แต่จะทำให้เราเข้าใจวิธีการใช้ไวยากรณ์ และข้อมูลส่วนนี้สมองจะนำไปเก็บไว้ในความจำระยะยาว เพราะการเรียนแบบท่องจำ และหักโหมนั้น สมองของเราจะนำข้อมูลต่างๆ ไปเก็บไว้ในความจำระยะสั้น เพื่อใช้ในการสอบ พอสอบเสร็จ เรียนจบ ก็ลืมหมด เพราะไวยากรณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ควรรู้และเข้าใจ เราจึงต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ชัดเจน มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถนำหลักไวยากรณ์ไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
ขั้นที่สี่ เมื่อเราฝึกพูดและปรับสำเนียงภาษาอังกฤษได้แล้ว ต่อมาอยากจะอยากพูดเก่ง คือโต้ตอบได้โดยทันที ไม่ต้องคิดจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย แล้วกลับไปคิดคำตอบเป็นภาษาอังกฤษอีก อย่าเรียนโดยการฟังแล้วพูดตาม เพราะการฟังแล้วพูดตาม ไม่ได้ทำให้เราพัฒนาทักษะในการพูดโต้ตอบ ให้เรียนด้วยวิธี ฟังแล้วตอบคำถาม วิธีนี้จะทำให้เราคิดได้เร็วขึ้น และพูดภาษาอังกฤษได้คล่องขึ้น การฝึกตอบคำถามนั้น ในช่วงแรกๆ ที่เรายังพูดไม่คล่อง ไม่จำเป็นต้องรีบตอบเร็วๆ เพราะการรีบพูด อาจจะทำให้เราพูดไม่ชัด ออกเสียงผิด หรือลิ้นพันกันได้ พอเราฝึกไปเรื่อยๆ และพูดได้คล่องขึ้น อีกหน่อยเราก็จะพูดได้เร็วเอง แถมออกเสียงไม่ผิดเพี้ยน
ถ้าอยากพูดให้ได้เหมือนเจ้าของภาษา อยากใช้ภาษาได้เหมือนเจ้าของภาษา สื่อที่เรานำมาใช้ประกอบการฝึกฝนของเราก็มีส่วนสำคัญให้เลือกแต่ สื่อที่ใช้จริงในชีวิตประจำวันเท่านั้น เช่น ฟังวิทยุ ฟังรายการข่าว ดูหนัง อ่านนิตยสารภาษาอังกฤษ ถ้ามีสื่อประเภท หัดพูด ภาษาอังกฤษที่เป็นหนังสือประกอบเทป หรือซีดี ให้เก็บไปก่อน เพราะสื่อพวกนี้จะจำลองสถานการณ์มา และอาจจะไม่เหมือนจริงเท่าไหร่ และวิธีการพูดจากในเทป หรือซีดี ก็จะไม่เป็นธรรมชาติ เหมือนอย่างที่ของจริงเขาพูดกัน เราอยากพูดได้แบบเจ้าของภาษา เราต้องฟังในสิ่งที่เขาฟัง เราต้องอ่านในสิ่งที่เขาอ่าน ถ้าอยากได้สำเนียงอังกฤษ หรืออเมริกัน ก็เลือกตามความชอบ ฝึกไปเรื่อยๆจะเห็นพัฒนาการของตัวเองขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนระยะเวลาว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของผู้เรียนแต่ละคน และอยู่ที่ความตั้งใจ และระยะเวลาในการฝึกฝนในแต่ละวัน ยิ่งฝึกมาก ก็เป็นเร็ว ฝึกน้อยก็จะเป็นช้าหน่อย
จากการศึกษาวิธีการฝึกทักษะทั้ง 4 ทักษะ ที่เริ่มจากทักษะการฟัง พูด อ่าน และนำไปสู่การเขียน ทำให้ดิฉันเกิดแรงบันดาลใจในการนำความรู้ที่ได้รับมาฝึกฝนเพื่อนำไปปรับใช้ในการเรียนภาษาอังกฤษต่อไป ดิฉันจึงเลือกฟังบทสนทนาภาษาอังกฤษเรื่อง Ticket On The Train  เรื่องนี้มีอยู่ว่า Kristin กำลังบอก Joe ว่าเช้านี้เธออารมณ์ไม่ค่อยดีนัก เพราะเธอเพิ่งมีปัญหาเรื่องตั๋วรถไฟ เธอดันลืมพกเงินและโทรศัพท์มาด้วย แถมวิธีแก้ปัญหายังแสนจะยุ่งยากเหลือเกิน ดิฉันรู้สึกสงสาร Kristin ขึ้นมาทันที ที่ต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้ จะจ่ายค่าปรับไม่มีตั๋วรถไฟก็ไม่อยากจ่าย แต่ถ้าไปยื่นเรื่องอุทธรณ์ก็ต้องเสียเวลาและไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย และเรื่อง  The Wedding เป็นเรื่องที่ Will และ Joe เป็นเพื่อนรักที่ไม่ได้เห็นหน้ากันมานาน พอบังเอิญเจอกัน Will ก็เล่าเรื่องในวันงานแต่งงานของเขาให้ Joe ฟังและแสดงความยินดีมีเรื่องเล่ามากมายที่น่าประทับใจมาก บทสนทนาภาษาอังกฤษนี้ค่อนข้างจะพูดเร็ว อาจเป็นเพราะทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน เลยไม่ใช้ภาษาที่เป็นทางการ มี idiom แทรกเป็นระยะๆ
บทสนทนาภาษาอังกฤษทั้งสองเรื่องดังกล่าว ทำให้ดิฉันได้มีความรู้เพิ่มเติมแลสามารถฝึกฝนทักษะทักสี่ทักษะได้อย่างคลอบคลุม ได้ฝึกฟังบทสนทนา มีความยาว 6 นาที การฝึกฟังครั้งแรกๆเริ่มฟัง ครั้งละ 5 - 10 ประโยคอย่าฟังประโยคเยอะเกินไปจนไม่สามารถจะจำประโยคเหล่านั้นได้ ขณะที่ฝึก ฟังภาษาอังกฤษ ต้องมี Script เสมอ และในการฝึกฟังแต่ละครั้ง ต้องฟังให้ได้อย่างน้อย 4 รอบ คือรอบที่ 1 ฟังพร้อม Script และหากเห็นว่าคำใดที่เราเคยออกเสียงไม่เหมือนเขา หรือเราฟังไม่รู้เรื่องแม้จะมี Script ให้หยุดเทป แล้วจดลงในScript ว่า เสียงที่เราได้ยินนั้นคืออะไร รอบที่ 2 และ 3 ออกเสียงตาม รอบที่ 4, 5, 6, .... ลองฟังแบบหลับตา โดยไม่มี Script ช่วงแรกฝึกฟังประโยคเดิมๆ ด้วยวิธีข้างต้น แล้วจึงค่อยๆเพิ่มจำนวนประโยคให้มากขึ้นเป็น 15-20 ประโยค ต่อการฝึกฟังแต่ละครั้ง หากทำวิธีดังกล่าวข้างต้นอย่างสม่ำเสมอ ฟังภาษาอังกฤษ รู้เรื่องแล้ว ยังสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วด้วย
และสังเกตเห็นหลักการเขียนประโยคที่ใช้ในบทสนทนาภาษาอังกฤษดังกล่าว มีการใช้ Noun clause เช่นประโยค I know why he comes home very late. และ this is what I’m thinking it’s gonna cost. จะเห็นได้ว่า whyและwhat เป็น Noun Clauses ที่ขึ้นต้นด้วย Wh- questions แม้ว่า noun clauses เหล่านี้จะขึ้นต้นด้วยคำแสดงคำถาม แต่ลำดับคำ (word order) ในอนุประโยคนี้ จะเป็นลำดับคำของประโยคบอกเล่า ไม่ใช่ลำดับคำของประโยคคำถาม และเห็นประโยค I’m sure that was a great way to start the day และ ประโยค I think that she just got finished with the court case from the last time เป็นการใช้ Noun Clauses ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า that ในกรณีที่ตามหลัง verbs บางตัวที่แสดงความรู้สึกความคิด หรือความคิดเห็น และใช้ Noun Clauses ที่ขึ้นต้นด้วย if หรือ whether เมื่อ main clause แสดงการใช้ความคิด หรือความคิดคำนึง เช่น   I can’t remember if I had already paid him.
ดังนั้นการศึกษานอกห้องเรียนครั้งนี้ ดิฉันได้นำบทสนทานาภาษาอังกฤษเรื่อง Ticket On The Train และ The wedding เพื่อใช้ในการฝึกฝนทักษะทั้ง 4 ด้านให้มีประสิทธิภาพ และสิ่งที่ขาดไม่ได้และสำคัญที่สุด เราจะต้องมีเป้าหมายในการเรียน มีแรงจูงใจ ทัศนคติที่ดีต่อการเรียนและความมั่นใจในตัวเอง ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว เมื่อเรียนไปไม่นานก็รู้สึกเบื่อและเลิกฝึกฝนไปในที่สุด และจำไว้เสมอว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โครงงานน้ำยาล้างมือ Hand Soap 4S BY ป.4

         น้ำยาล้างมือ Hand Soap 4S สูตรว่านหางจระเข้